วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์

ในวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตกาลมีการร้องรำทำเพลง และระบำ รำ เต้น เพื่อการบันเทิงและพิธีกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาจนเกิดเป็นนาฏยศิลป์ขึ้น การพัฒนาส่วนหนึ่งเกิดจากภายในสังคมไทย อีกส่วนหนึ่งมาจากชนชาติเพื่อนบ้านที่มีนาฏยศิลป์รุ่งเรือง เช่น เขมร  มอญ  หลังจากการพัฒนามาหลายร้อยปี นาฏยศิลป์ไทยในยุคอยุธยาตอนปลายจึงรุ่งเรือง 
          เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนานาฏยศิลป์ไทยในด้านวรรณคดี การแสดง ตำรา กฎเกณฑ์  ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน  เป็นเครื่องบันเทิงของทวยราษฎร์  และทำให้เห็นว่าบ้านเมืองมั่นคง  
          รัชกาลที่ ๒ ทรงพัฒนาละครในให้วิจิตรและทรงคิดละครนอกแบบหลวงขึ้น
          รัชกาลที่ ๓ ทรงละเลิกนาฏยศิลป์ในราชสำนักหันไปสนพระทัยการพระพุทธศาสนา แต่ละครกลับเจริญอยู่ภายนอก  อีกทั้งมีโนรา แอ่วลาว สวดแขก และงิ้ว  ติดตามผู้อพยพเข้ามาแสดงในกรุง  
          สมัยรัชกาลที่ ๔ กลับมามีละครผู้หญิงของหลวงอย่างเดิมด้วยโปรดให้ผู้หญิงแสดงละครได้  ไม่หวงห้าม ละครผู้หญิงแพร่หลายเพราะคนนิยมดูผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  มีการจ้างเหมาการแสดงในวิกโรงบ่อนทั่วกรุงเพื่อดึงดูดลูกค้า   อนึ่ง วรรณคดี ดนตรี นาฏยศิลป์ของชนหลายชาติหลายภาษาที่ตั้งรกรากในกรุงเทพฯ  ทำให้การเล่นออกภาษาแพร่หลาย การออกภาษาเป็นปัจจัยให้เกิดละครพันทางซึ่งเป็นจุดเริ่มการแตกตัวของนาฏศิลป์ไทย 
          สมัยรัชกาลที่ ๕ มีความเจริญทางสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง การสาธารณูปโภค และศิลปวิทยาการทางตะวันตก ทำให้มีนาฏยศิลป์ไทยรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาก คือ ละครพูด ละครพูดสลับลำ ละครดึกดำบรรพ์ ลิเก ละครร้อง เสภารำ และเพลงทรงเครื่อง นาฏยศิลป์ในรัชกาลนี้กลายเป็นนาฏยพาณิช จึงมีเนื้อหาและรูปแบบหลากหลายตามรสนิยมคนดู  ภาพยนตร์กับดนตรีเริ่มมีเข้ามาประปราย
          รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้ละครเพื่อพัฒนาอุดมการณ์ของชาติ ขณะเดียวกันก็ทรงทำนุบำรุงนาฏยศิลป์ดั้งเดิมโดยเฉพาะโขน ส่วนละครนอก ละครใน ละครดึกดำบรรพ์ ยังมีคณะละครบรรดาศักดิ์แสดงอยู่บ้าง  ละครร้อง และลิเกนั้น แสดงออกภาษามากขึ้นและเป็นยุคทองของละคร ๒ ชนิดนี้  การแสดงอื่น ๆ ได้รับความกระทบกระเทือนจากการปิดบ่อนการพนันและการแย่งคนดูของภาพยนตร์ 

          สมัยรัชกาลที่ ๗ เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้ต้องลดการสนับสนุนนาฏยศิลป์ไทยในราชการลง  แต่ละครร้องยังคงพัฒนาต่อไปเป็นละครเพลงด้วยวงดนตรีสากลและเพลงไทยสากล  รัชกาลที่ ๗  สนพระทัยดนตรีไทย ดนตรีสากล และภาพยนตร์ไทย  จึงโปรดให้สร้างโรงภาพยนตร์ทันสมัยขึ้นฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี  มีการตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นในกรมศิลปากร  และเชิญครูนาฏยศิลป์ฝีมือดีจากที่ต่าง ๆ มาถ่ายทอดนาฏยศิลป์ไทยให้อนุชนได้อนุรักษ์และพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
           อ้างถึง : ผู้เขียน : ศ. ดร.สุรพล  วิรุฬห์รักษ์  (อาจารย์ในดวงใจ ของข้าพเจ้า)  ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาวิชานาฏกรรม
                  ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗


                        จนถึงในปัจจุบันนี้  นาฏศิลป์ไทย ก็ยังนับว่าได้รับการสืบทอดจากเยาวชนไทยในปัจจุบัน  โดยใช้กระบวนการเดิมคือ ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นไปยังศิษย์นาฏศิลป์ที่จะช่วยกันร่วมธำรงค์ไว้ซึ่งศิลปะไทยแขนงนี้  ทั้งยังมีการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์แบบใหม่ ๆ เพื่อเป็นการนำภูมิปัญญา บูรพคณาจารย์นาฏศิลป์ไทยที่ได้ประสิทธิ์ประสาทไว้ให้แก่ศิษย์นาฏศิลป์ไทย  มาสรรค์สร้างเป็นงานศิลป์ใหม่ๆ  เพื่อเชื่อมโยงสภาวะปัจจุบัน กับนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมในอดีต

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2565 เวลา 09:22

    merkur casino no deposit bonus - yn
    The following free deccasino slots may be found on the free online casino website. You 메리트카지노 may also be able to play the slot 1xbet machines with no deposit required and

    ตอบลบ